ภาวะเครียดของผู้สูงอายุ
ภาวะเครียด วิตกกังวล ผู้สูงอายุจะรู้สึกเครียดง่าย เนื่องจากปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ยาก ความสามารถและประสิทธิภาพลดลง มักแสดงออกเป็นความกลัวขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ย้ำคิดย้ำทำ นอนไม่หลับ เหงา ว้าเหว่ ท้อแท้ ความวิตกกังวลอาจแสดงออกทางร่างกาย เช่น ปวดศีรษะ ท้องเสีย ท้องผูก เบื่ออาหาร อาหารไม่ย่อย ปวดตึงกล้ามเนื้อมือเท้าเย็น ใจสั่น เหงื่อออกตามมือ เป็นต้น แสดงออกด้านพฤติกรรม เช่น จู้จี้ ขี้บ่น มีเรื่องขัดแย้งกับผู้อื่นบ่อยครั้งแยกตัวจากสังคม เก็บตัว กัดเล็บ กัดฟัน สูบบุหรี่ หรือ ดื่มเหล้าหนัก
อาการแบบไหน ที่เข้าข่ายต้องดูแลใกล้ชิด
- การดำเนินชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนไป ได้แก่ การรับประทานอาหารผิดปกติ อาจจะรับประทานมากขึ้นกว่าเดิม ยิ่งไม่สบายใจก็ยิ่งรับประทานมาก หรือบางคนก็ตรงข้าม คือ รับประทานน้อยลง เบื่ออาหาร ซูบผอมลงทั้งๆ ที่ไม่มีปัญหาทางร่างกาย บางคนมี อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ
- รูปแบบการนอนที่ผิดปกติ อาจจะมีการนอนหลับมากกว่าปกติ เช่น มีอาการง่วง ซึม อยากนอนตลอดเวลา หรือบางคนก็ตรงข้ามคือ นอนไม่หลับ ตกใจตื่นตอนดึกแล้วไม่สามารถหลับต่อได้อีก บางคนอาจมีอาการฝันร้ายติดต่อกันบ่อยๆ
- อารมณ์ผิดปกติ บุคลิกภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น หงุดหงิดบ่อยขึ้น เคยเป็นคนร่าเริงแจ่มใส ช่างพูด ช่างคุย ก็กลับซึมเศร้า เงียบขรึม เคร่งเครียด ฉุนเฉียว ไม่พูดไม่จา บางคนอาจเคยพูดน้อยก็กลายเป็นคนพูดมาก วิตกกังวลมากขึ้นกว่าเดิมจนสังเกตเห็นได้ และสร้างความลำบากใจให้กับคนรอบข้าง เป็นต้น
- มีอาการเจ็บป่วยทางกายซึ่งหาสาเหตุไม่พบ เรื่องนี้ผู้ดูแลควรสังเกตให้มาก เพราะโรคบางอย่างยังตรวจไม่พบอาจเป็นอาการแอบแฝงของโรคร้ายแรงบางชนิดได้ เช่น อาการปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ ปวดกระดูก วิงเวียนศีรษะ ปวดท้อง เป็นต้น
แนวทางการดูแลสุขภาพจิตใจของผู้สูงอายุ
- การให้เกียรติ ยอมรับในการตัดสินใจ ยอมรับบทบาท และให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ เช่น คอยซักถามเรื่องสุขภาพและความเป็นอยู่ ชวนคุย เล่าเรื่องสนุกๆ ให้ท่านฟัง
- หากิจกรรมให้ผู้สูงอายุทำ เป็นสิ่งที่ทำแล้วเพลิดเพลิน สิ่งที่ท่านชอบและสนใจที่จะทำ หมั่นทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว กระตุ้นในผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองเป็นที่ปรึกษาของบุคคลในครอบครัวได้
- อย่าทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าเขาเป็นผู้ที่ทำให้คุณต้องแบกภาระเหนื่อยยากในการดูแล
- หมั่นสังเกตความผิดปกติ และควรสอบถามสาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุเกิดความวิตกกังวล พูดคุย และรับฟัง แลกเปลี่ยนวิธีแก้ไขปัญหาร่วมกัน ไม่ควรให้ผู้สูงอายุเก็บปัญหา หรือความไม่สบายใจไว้เพียงลำพัง
- ให้ผู้สูงอายุพบปะกับบุคคลที่ชอบหรือคุ้นเคย เช่น ลูกหลาน เพื่อน หรือเพื่อนบ้าน
- ชวนสวดมนต์ ปฏิบัติธรรม ฝึกสมาธิ ปรับเปลี่ยนบรรยากาศให้ผู้สูงอายุรู้สึกสดชื่น หลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความกระทบกระเทือนใจ